About
โดย
จุดเด่น/หลักการทำงาน
จุดเด่นของถังหมักโกโก้อัตโนมัติ
- ถังหมักสามารถทำการหมุนได้โดยอัตโนมัติเมื่อถึงอุณหภูมิที่ต้องการ
- สามารถวัดค่าอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีการบันทึกค่าอุณหภูมิในรูปแบบของกราฟไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถติดตามค่าต่าง ๆ ย้อนหลังได้
- สามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการให้หมุนถังหมักได้ เพื่อจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวิธีการหมักของแต่ละผู้ผลิต แต่โดยทั่วไป ค่าเริ่มต้น (default) ของเครื่องจะตั้งไว้ที่ 40 องสาเซลเซียส
- มีพัดลมที่สามารถเติมออกซิเจนเข้าไปในถังได้โดยอัตโนมัติในขณะทำการกลับเมล็ดโกโก้
- ช่วยลดค่าแรงงานของผู้ผลิตและลดความผิดพลาดเนื่องจาก Human error (ข้อผิดพลาดที่เกิดจากบุคคล)
– มีช่องระบายของเสียที่เกิดจากกระบวนการหมักเมล็ดโกโก้
หลักการ :
ถังหมักโกโก้อัตโนมัติสามารถวัดค่าอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง, สามารถส่งค่าและแสดงผลได้บน Google sheet โดยในช่วง 2 วันแรกตามสถิติ จะเป็นช่วงการหมักเมล็ดโกโก้ที่เรียกว่า การหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน ในขณะนี้เมล็ดโกโก้ไม่ต้องการอากาศเพื่อทำปฏิกิริยาแลกเปลี่ยนสารเคมีในตัวแต่อย่างใด หลังจากผ่านพ้น 2 วันแรกแล้ว เมล็ดโกโก้จะเข้าช่วงการหมักที่เรียกว่าการหมักแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งในช่วงนี้ อุณหภูมิของเมล็ดโกโก้จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักโกโก้จะย่อยสลายเยื่อหุ้มสีขาวและใช้ออกซิเจนเพื่อผลิตความร้อนและสารเคมีออกมาออกมา
ถังหมักโกโก้ได้มีระบบตรวจสอบและแสดงกราฟอุณหภูมิตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งกราฟอุณหภูมิมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิลดลงหรือกราฟอุณหภูมิไม่มีการเพิ่มขึ้นแล้ว กระบวนการต่อไปคือการเปิดพัดลมเพื่อเติมออกซิเจนให้กับเมล็ดโกโก้และกระจายอุณหภูมิในถังหมัก จากนั้นพัดลมจะถูกปิดและทำการกลับเมล็ดโกโก้ด้วยการหมุนถังหมักจนกระทั่งอุณหภูมิของเมล็ดเปลี่ยนแปลงไปในระดับนึงจึงหยุดหมุน และใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อลดอุณหภูมิในถัง เมื่อเมล็ดโกโก้ทำปฏิกิริยาให้เกิดอุณหภูมิสูงเกิน 52 องศาเซลเซียส รวมไปถึงมีการแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิในถังหมักน้อยเกินไปหรือน้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยทั้งนี้ค่าพารามิเตอร์สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสูตรการหมักโกโก้ของผู้ผลิต เช่น สามารถปรับเปลี่ยนวันที่หมุนถังหมักโกโก้ครั้งแรก หรือหมุนในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าค่าเริ่มต้นของถังหมักโกโก้
ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตร
อ้างอิงจาก พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีสถิติมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์โกโก้อยู่ที่อยู่ที่ปริมาณ 69.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างผลิตภัณฑ์จากเมล็ดโกโก้คือ การหมักเมล็ดโกโก้ด้วยจุลินทรีย์จากธรรมชาตินั่นเอง โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการหมักเมล็ดโกโก้ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ซึ่งขั้นตอนการหมักนี้จะช่วยลดความเปรี้ยวฝาด และสร้างกลิ่นรสให้กับเมล็ดโกโก้ โดยที่จุลินทรีย์จะทำการย่อยเมล็ดเยื่อหุ้มสีขาวรอบเมล็ดโกโก้ ซึ่งจะส่งผลให้ระหว่างการหมักนั้นมีอุณภูมิสูงขึ้น นอกจากนี้เมื่ออุณหภูมิระหว่างการหมักไม่มีการเพิ่มขึ้นแล้วนั้นจะต้องทำกระบวนการกลับเมล็ดโกโก้ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในเมล็ดโกโก้ด้านล่างได้รับออกซิเจนให้สามารถดำเนินการหมักเมล็ดโกโก้ทุกเมล็ดอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการหมักเมล็ดโกโก้ที่ต้องทำการควบคุมหรือคอยตรวจสอบระหว่างการหมักคือค่าอุณหภูมิ โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะตรวจสอบวัดค่าอุณหภูมิทุกๆ 6 ชั่วโมงตามสถิติ (หรือตามความสะดวกในการตรวจสอบของแต่ละโรงงาน) และทำการจดบันทึกค่าที่ได้ทุกครั้ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ เกษตรกรไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เมล็ดโกโก้ที่ได้รับหลังจากการหมักนั้นมีรสชาติและกลิ่นที่ไม่คงที่ คณะผู้จัดทำจึงได้สร้างถังหมักโกโก้อัตโนมัติที่สามารถวัดค่าอุณหภูมิและสามารถติดตามค่าอุณหภูมิของเมล็ดโกโก้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถกลับเมล็ดโกโก้เมื่อกราฟอุณหภูมิแสดงแนวโน้มอุณหภูมิที่ไม่เพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมการผลิตเมล็ดโกโก้ให้มีรสชาติและกลิ่นที่ใกล้เคียงกันทุกครั้ง, ลดความผิดพลาดเนื่องจาก Human error และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ถังหมักโกโก้มีระบบตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการให้กลับเมล็ดโกโก้ได้ เพื่อที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับวิธีการหมักที่เฉพาะทางของแต่ละผู้ผลิต